วันอาทิตย์ที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2556

กติกาการเล่นบาสเก็ตบอล

 กติกาการเล่น

เกมจะแบ่งการเล่นเป็น ควอเตอร์ (quarter) แต่ละควอเตอร์มี 10 นาที (สากล) หรือ 12 นาที (เอ็นบีเอ) ช่วงพักครึ่งนาน 15 นาที ส่วนพักอื่นๆ ยาว 2 นาที ช่วงต่อเวลา (overtime) ยาว 5 นาที ทีมจะสลับด้านสนามเมื่อเริ่มครึ่งหลัง เวลาจะเดินเฉพาะระหว่างที่เล่น และนาฬิกาจะหยุดเดินเมื่อเกมหยุด เช่น เมื่อเกิดการฟาวล์ หรือระหว่างการชู้ตลูกโทษ เป็นต้น ดังนั้นเวลาทั้งหมดที่ใช้แข่งมักยาวกว่านี้มาก (ประมาณสองชั่วโมง)
ในขณะใดขณะหนึ่งจะมีผู้เล่นในสนามฝ่ายละห้าคน และจะมีผู้เล่นสำรองสูงสุดทีมละเจ็ดคน สามารถเปลี่ยนตัวได้ไม่จำกัดและเปลี่ยนได้เฉพาะเมื่อเกมหยุด ทีมยังมีโค้ชที่ดูแลทีมและวางกลยุทธ์ในการเล่น รวมถึงผู้ช่วยโค้ช ผู้จัดการทีม นักสถิติ แพทย์ และเทรนเนอร์
เครื่องแบบนักกีฬาสำหรับทีมชายและหญิงตามมาตรฐานได้แก่ กางเกงขาสั้นและเสื้อกล้ามที่มีหมายเลขผู้เล่นชัดเจนพิมพ์ทั้งด้านหน้าและด้านหลัง รองเท้าเป็นรองเท้ากีฬาหุ้มข้อเท้า อาจมีชื่อทีม ชื่อนักกีฬา และสปอนเซอร์ ปรากฏบนชุดด้วยก็ได้
แต่ละทีมจะได้เวลานอกจำนวนหนึ่งสำหรับให้โค้ชและผู้เล่นปรึกษากัน มักยาวไม่เกินหนึ่งนาที ยกเว้นเมื่อต้องการโฆษณาระหว่างการถ่ายทอดสด
เกมควบคุมโดยกรรมการและหัวหน้ากรรมการผู้ตัดสินในสนาม และกรรมการโต๊ะ กรรมการโต๊ะมีหน้าที่บันทึกคะแนน ควบคุมเวลา บันทึกจำนวนฟาล์วผู้เล่นและฟาล์วทีม ดูเรื่องการเปลี่ยนตัว โพเซสซันแอร์โรว์และช็อตคล็อก
อุปกรณ์การเล่น






ลูกบาสเกตบอล
อุปกรณ์ที่จำเป็นจริง ๆ ในกีฬาบาสเกตบอลมีเพียงลูกบอลและสนามที่มีห่วงติดอยู่ที่ปลายทั้งสองด้าน การเล่นในระดับแข่งขันต้องใช้อุปกรณ์อื่น เช่น นาฬิกา กระดาษบันทึกคะแนน สกอร์บอร์ด โพเซสซันแอร์โรว์ ระบบหยุดนาฬิกาด้วยนกหวีด เป็นต้น
ลูกบาสเกตบอลชายมีเส้นรอบวงประมาณ 30 นิ้ว (76 เซนติเมตร) และหนักประมาณ 1 ปอนด์ 5 ออนส์ (600 กรัม) ลูกบาสเกตบอลหญิงมีเส้นรอบวงประมาณ 29 นิ้ว (73 ซม.) และหนักประมาณ 1 ปอนด์ 3 ออนส์ (540 กรัม) สนามบาสเกตบอลมาตรฐานในเกมสากลมีขนาด 28 คูณ 15 เมตร (ประมาณ 92 คูณ 49 ฟุต) ส่วนในเอ็นบีเอมีขนาด 94 คูณ 50 ฟุต (29 คูณ 15 เมตร) พื้นสนามส่วนใหญ่ทำด้วยไม้
ห่วงที่ทำจากเหล็กหล่อ พร้อมทั้งเน็ต และแป้น ติดอยู่ที่ปลายทั้งสองด้านของสนาม ในการแข่งขันเกือนทุกระดับ ขอบห่วงด้านบนอยู่สูงจากพื้น 10 ฟุต (3.05 เมตร) พอดีและถัดเข้ามาจากเส้นหลัง 4 ฟุต (1.2 เมตร) ถึงแม้ว่าขนาดของสนามและแป้นอาจแตกต่างกันออกไป แต่ความสูงของห่วงถือว่าสำคัญมาก ถึงตำแหน่งจะคลาดเคลื่อนไปไม่เพียงกี่นิ้วก็มีผลต่อการชู้ตอย่างมาก
ข้อบังคับ
ลูกสามารถเคลื่อนที่ไปข้างหน้าเข้าหาห่วงโดยการชู้ต การส่งระหว่างผู้เล่น การขว้าง การเคาะลูก การกลิ้งลูก หรือ การเลี้ยงลูก (โดยการให้ลูกกระเด้งกับพื้นขณะวิ่ง ภาษาอังกฤษเรียก ดริบบลิง, dribbling)
ลูกจะต้องอยู่ในสนาม ทีมสุดท้ายที่สัมผัสลูกก่อนที่ลูกจะออกนอกสนามจะสูญเสียการครองบอล ผู้เล่นห้ามขยับขาทั้งสองพร้อมกันในขณะเลี้ยงลูก (เรียกว่า แทรเวลลิง, travelling) เลี้ยงลูกพร้อมกันทั้งสองมือ หรือเลื้ยงลูกแล้วจับลูกแล้วเลี้ยงลูกต่อ (เรียกว่า ดับเบิล-ดริบบลิง, double-dribbling) เวลาเลี้ยงมือของผู้เล่นต้องอยู่ด้านบนของลูก มิฉะนั้นจะนับว่า ถือลูก (carrying) ถ้าทีมพาลูกไปยังแดนของฝ่ายตรงข้ามของสนาม (frontcourt) แล้ว ห้ามนำลูกกลับเข้าแดนตนเอง (backcourt) อีก ห้ามเตะหรือชกลูก ถ้าทำผิดกฎข้อห้ามเหล่านี้จะเสียการครองบอล อีกฝ่ายจะเป็นฝ่ายได้ลูกไปเล่น แต่ถ้าฝ่ายรับทำผิดกฎฝ่ายที่ครองบอลจะได้เริ่มช็อตคล็อกใหม่
ผู้เล่นจะต้องนำลูกจากแดนตัวเองข้ามเข้าแดนตรงข้ามภายในเวลาที่กำหนด (8 วินาทีทั้งในกติกาสากลและเอ็นบีเอ) ต้องชู้ตภายในเวลา 24 วินาที ถือลูกขณะที่ถูกยืนคุมโดยฝ่ายตรงข้ามไม่เกิน 5 วินาที อยู่ในบริเวณใต้แป้นไม่เกิน 3 วินาที กฎเหล่านี้มีไว้เป็นรางวัลแก่การตั้งรับที่ดี
ห้ามผู้เล่นรบกวนห่วง หรือ ลูกขณะเคลื่อนที่คล้อยลงมายังห่วง หรือ ขณะอยู่บนห่วง (ในเอ็นบีเอ ยังรวมกรณีลูกอยู่เหนือห่วงพอดี) การฝ่าฝืนข้อห้ามนี้เรียก โกลเทนดิง (goaltending) ถ้าฝ่ายรับทำผิด จะถือว่าการชู้ตสำเร็จและอีกฝ่ายได้คะแนน แต่ถ้าฝ่ายรุกทำผิด จะไม่คิดคะแนนการชู้ตนี้ และเสียการครองบอล
ฟาวล์

กรรมการแสดงสัญญาณฟาวล์โดยการเป่านกหวีดแล้วชูกำปั้นข้างซ้ายขึ้น
การเล่นที่กระทบกระทั่งผู้เล่นฝ่ายตรงข้ามให้อีกฝ่ายเสียเปรียบและไม่เป็นธรรม ถือเป็นข้อห้ามที่ถ้าฝ่าฝืนจะนับเป็น ฟาวล์ (foul) ผู้เล่นตั้งรับมักจะเป็นคนทำฟาวล์แต่ผู้เล่นฝ่ายรุกก็สามารถทำฟาวล์ได้เช่นเดียวกัน คนที่ถูกฟาวล์จะได้ส่งลูกจากข้างสนาม (inbound) เพื่อเล่นต่อ หรือได้ชู้ตลูกโทษ หรือ ฟรีโทรว์ (free throw) ถ้าการฟาวล์เกิดขึ้นขณะกำลังชู้ตลูก การชู้ตลูกโทษลงห่วงครั้งหนึ่งจะได้หนึ่งคะแนน ผู้เล่นจะได้ชู้ตลูกโทษหนึ่งกี่ครั้งขึ้นกับว่าลูกที่ผู้เล่นชู้ตตอนถูกฟาวล์นั้นได้แต้มหรือไม่ เวลาชู้ตลูกโทษผู้เล่นต้องยืนหลังเส้นลูกโทษซึ่งห่างจากห่วง 4.5 เมตร (15 ฟุต)
การที่จะมีฟาวล์หรือไม่อยู่วิจารณญาณของกรรมการผู้ตัดสิน ว่าผู้เล่นเกิดการได้เปรียบในการเล่นอย่างขาวสะอาดหรือไม่ ทำให้บางครั้งมีความเห็นขัดแย้งกับการเรียกฟาวล์ของกรรมการ การกระทบกระทั่งในกีฬาบาสเกตบอลเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ และการเรียกฟาวล์อาจแตกต่างกันในแต่ละเกม ลีก หรือแม้กระทั่งกรรมการตัดสินแต่ละคน
ผู้เล่นหรือโค้ชซึ่งแสดงน้ำใจนักกีฬาที่แย่ เช่น เถียงกับกรรมการ หรือ ชกกับผู้เล่นอื่น อาจโดนเทคนิคัลฟาวล์ หรือ ฟาวล์เทคนิค (technical foul) ซึ่งถูกลงโทษโดยให้อีกทีมได้ชู้ตลูกโทษ (รายละเอียดขึ้นอยู่กับลีก) ถ้าเกิดเหตุการณ์ซ้ำก็อาจถูกไล่ออกจากสนามได้ ฟาวล์ที่เกิดจากการเล่นที่รุนแรงเกินไป จะเรียกว่าฟาวล์ขาดน้ำใจนักกีฬา หรือ ฟาวล์รุนแรง (unsportsmanlike foul ในสากลหรือ flagrant foul ในเอ็นบีเอ) ก็จะได้รับโทษที่สูงขึ้นกว่าฟาวล์ธรรมดา บางครั้งอาจถูกให้ออกจากสนามด้วย
ถ้าทีมทำฟาวล์เกินกว่าที่กำหนด (ในหนึ่งควาเตอร์ หรือ ในครึ่งเกม) ซึ่งก็คือ สี่ครั้งสำหรับกติกาสากลและเอ็นบีเอ ทีมตรงข้ามสามารถชู้ตลูกโทษสำหรับการฟาวล์ที่จะเกิดขึ้นในครั้งต่อๆ ไป จากนั้นจนกว่าจะจบช่วง ไม่ว่าการฟาวล์จะเกิดขึ้นขณะกำลังชู้ตลูกหรือไม่ (รายละเอียดขึ้นอยู่กับลีก) ถ้าผู้เล่นฟาวล์รวมห้าครั้งนับเทคนิคัลฟาวล์ด้วย (บางลีก รวมถือเอ็นบีเอ ยอมให้ฟาวล์ได้หกครั้ง) ผู้เล่นนั้นไม่สามารถเล่นในเกมได้อีก เรียกว่าฟาวล์เอาท์ (foul out)
เทคนิคพื้นฐาน
ตำแหน่งผู้เล่นและโครงสร้าง

ตำแหน่งผู้เล่น
ถึงแม้ว่าในกฎจะไม่กำหนดตำแหน่งใด ๆ ของผู้เล่น แต่เรื่องนี้มีวิวัฒนาการจนเป็นส่วนหนึ่งของบาสเกตบอล ในช่วงห้าสิบปีแรกของเกม จะใช้ การ์ดสองคน ฟอร์เวิร์ดสองคน และเซ็นเตอร์หนึ่งคนในการเล่น ตั้งแต่คริสต์ทศวรรษ 1980 เป็นต้นมา มีการแบ่งชัดเจนขึ้นเป็น พอยท์การ์ด (หรือการ์ดจ่ายชู้ตติ้งการ์ด สมอลฟอร์เวิร์ด เพาเวอร์ฟอร์เวิร์ด และ เซ็นเตอร์ ในบางครั้งทีมอาจเลือกใช้ การ์ดสามคน แทนฟอร์เวิร์ดหรือเซ็ตเตอร์คนหนึ่ง ซึ่งเรียกว่า three guard offense
การเล่นตั้งรับ มีหลักการแตกต่างกันสองรูปแบบ คือ ตั้งรับแบบโซน (zone defense) และ แบบแมน-ทู-แมน (man-to-man defense) การตั้งรับแบบโซน ผู้เล่นจะยืนคุมผู้เล่นฝ่ายบุกที่อยู่ในโซนที่ตัวเองรับผิดชอบ ส่วนแบบ แมน-ทู-แมน นั้น ผู้เล่นฝ่ายรับแต่ละคนจะยืนคุมและป้องกันผู้เล่นฝ่ายตรงข้ามที่โค้ชวางแผนการเล่นเอาไว้
ส่วนการเล่นบุกทำคะแนนมีหลากหลายกว่า เกี่ยวข้องกับแผนการส่งลูก และการเคลื่อนไหวของผู้เล่นที่ไม่ถือลูก การคัท (cut) หรือวิ่งตัด คือการที่ผู้เล่นที่ไม่มีลูกวิ่งอย่างรวดเร็วไปยังตำแหน่งที่ได้เปรียบ การสกรีน (screen) หรือ พิก (pick) คือการที่ผู้เล่นฝ่ายบุกยืนขวางทางผู้เล่นฝ่ายรับที่ประกบเพื่อนร่วมทีมในขณะที่เพื่อนร่วมทีมนั้นวิ่งตัดข้างๆ เขา การเล่นสองแบบนี้สามารถรวมเข้าเป็นพิกแอนด์โรล (pick and roll) โดยที่ผู้เล่นคนแรกทำพิกจากนั้นก็หมุนตัววิ่งเข้าหาห่วง (ซึ่งเรียกว่าโรล) สกรีน และ คัท เป็นส่วนสำคัญของการเล่น ทำให้ส่งลูกและทำคะแนนได้สำเร็จ ทีมมักมีแผนการเล่นที่หลากหลายเพื่อให้อีกฝ่ายไม่สามารถคาดเดาการเล่นได้ ในสนามผู้เล่นตำแหน่งพอยท์การ์ดมักมีหน้าที่บอกแผนการเล่นที่จะใช้ให้กับเพื่อนร่วมทีม
โครงสร้างของการตั้งรับ การบุก และตำแหน่งการเล่น ถูกเน้นในการเล่นบาสเกตบอลระดับสูง และเป็นสิ่งที่โค้ชจะขอเวลานอกเพื่อคุยกับลูกทีม
การชู้ต
การชู้ตเพื่อทำคะแนนนั้น วิธีการจะแตกต่างกันไปขึ้นกับผู้เล่นและสถานการณ์ ที่จะอธิบายต่อไปนี้เป็นเทคนิกพื้นฐานที่ใช้มากที่สุด
ผู้เล่นเอาลูกไปพักบนปลายนิ้วมือข้างที่ถนัด ให้อยู่สูงกว่าศีรษะเล็กน้อย ส่วนมืออีกข้างประคองด้านข้างลูก จากนั้นก็ยืดแขนข้างที่พักลูกให้เหยียดตรงให้ลูกลอยออกจากปลายนิ้วในขณะที่บิดข้อมือลง ปกติมืออีกข้างประคองลูกเพื่อควบคุมทิศการชู้ตเท่านั้น ไม่มีส่วนในการให้แรงส่ง
ผู้เล่นมักชู้ตลูกให้ลูกหมุนแบบแบ็คสปิน (backspin) กล่าวคือหมุนย้อนไปข้างหลังขณะที่ลูกเคลื่อนที่ไปยังห่วง ซึ่งจะช่วยป้องกันไม่ให้ลูกกระดอนออกจากห่วงหลังจากการกระทบ ผู้เล่นส่วนมากชู้ตไปยังห่วงตรง ๆ แต่ในบางครั้งผู้ชู้ตอาจต้องชู้ตให้กระดอนกับแป้นแทน
วิธีการชู้ตที่ใช้บ่อยสุด ได้แก่ เซ็ตช็อต (set shot) และ จัมพ์ช็อต (jump shot) เซ็ตช็อตคือการชู้ตขณะที่ทั้งสองเท้ายังอยู่ติดพื้น ใช้ในการชู้ตฟรีโทรว์ ส่วนจัมพ์ช็อต คือการชู้ตขณะที่กำลังกระโดดโดยปล่อยลูกขณะที่ตัวอยู่ตำแหน่งลอยตัวสูงสุด การชู้ตวิธีนี้ให้กำลังมากกว่าและชู้ตได้ไกล อีกทั้งสามารถกระโดดลอยตัวเหนือผู้เล่นที่ยืนตั้งรับได้ด้วย
ผู้เล่นที่ชู้ตเก่งนอกจากจะมีสัมผัส การทรงตัว ความกล้า และการฝึกฝนที่ดีแล้ว ยังต้องรู้จักเลือกโอกาสการชู้ตอีกด้วย ผู้เล่นระดับแนวหน้ามักชู้ตไม่พลาดเมื่อไม่มีผู้เล่นอื่นมาประกบ
การส่งบอล
ในการส่งบอล (pass) ระหว่างผู้เล่น ผู้ส่งมักส่งในจังหวะที่ก้าวไปข้างหน้าเพื่อเพิ่มกำลังส่ง และอาศัยมือประคองในจังหวะที่ปล่อยลูกเพื่อช่วยเรื่องความแม่นยำ
การส่งพื้นฐานสุดแบบหนึ่งคือการส่งระดับอก (chest pass) โดยส่งโดยตรงจากอกของผู้ส่งลูกไปยังผู้รับลูก เป็นการส่งที่รวดเร็วที่สุด
การส่งอีกแบบคือแบบ bounce pass ผู้ส่งจะส่งจากระดับอก ให้ลูกบอลกระเด้งกับพื้นที่ระยะประมาณสองในสามจากผู้ส่ง ซึ่งลูกจะกระเด้งเข้าระดับอกของผู้รับพอดี มีประโยชน์เวลาที่มีผู้เล่นฝ่ายตรงข้ามยืนอยู่ในจุดซึ่งอาจแย่งลูกได้หากส่งลูกธรรมดา
การส่งแบบ ข้ามหัว (overhead pass) สำหรับส่งข้ามผู้เล่นฝ่ายตรงข้าม โดยจะส่งข้ามศีรษะของผู้ส่ง เล็งไปที่ระดับคางของผู้รับ
การส่งไม่จำเป็นต้องใช้กรณีที่ผู้เล่นอยู่ไกลกัน แต่อาจจะเป็นการยื่นลูกให้ผู้เล่นคนที่อยู่ข้าง ๆ ซึ่งกำลังเคลื่อนที่เข้าไปยังห่วงเพื่อทำคะแนนเป็นต้น
จุดสำคัญของการส่งลูกก็คือ จะต้องไม่ให้อีกฝ่ายแย่งหรือขโมยลูกไปได้ ด้วยเหตุนี้การส่งข้ามสนามไกล ๆ ที่เรียกว่าการส่งสกิป (skip pass) ถึงใช้กับแค่บางสถานการณ์เท่านั้น
การเลี้ยงลูก

เล่นทีมวิทยาลัยกองทัพเรือสหรัฐ (ซ้าย) พยายามเลี้ยงลูกหลบฝ่ายรับทีมวิทยาลัยกองทัพบก (ขวา)
การเลี้ยงลูกเป็นบังคับให้ลูกกระเด้งกับพื้นตลอดเวลา ผู้เล่นไม่ใช้มือตบลูกแต่จะใช้มือดันลูกไปหาพื้นแทนเนื่องจากควบคุมลูกได้ดีกว่า
เมื่อต้องเลี้ยงลูกผ่านคู่ต่อสู้ ผู้เลี้ยงลูกควรเลี้ยงให้ลูกอยู่ห่างจากผู้เล่นฝ่ายตรงข้ามมากสุด ดังนั้นผู้เล่นจำเป็นต้องเลี้ยงลูกได้ทั้งสองมือ ด้วยการสลับมือเลี้ยงลูกผู้เล่นฝ่ายตรงข้ามก็เอื้อมมือถึงลูกได้ยากขึ้น และระหว่างที่สลับมือจะต้องเลี้ยงลูกให้ต่ำลงป้องกันการขโมยลูก ผู้เล่นอาจเปลี่ยนมือโดยเลี้ยงลูกลอดระหว่างขาหรือไขว้หลังก็ได้
ผู้เล่นที่ชำนาญสามารถเลี้ยงลูกได้โดยไม่ต้องมองลูก ซึ่งช่วยให้มองหาเพื่อนร่วมทีมหรือโอกาสการทำแต้ม และป้องกันการขโมยลูกจากผู้เล่นที่ยืนอยู่รอบ ๆ ได้


ที่มา: http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%9A%E0%B8%B2%E0%B8%AA%E0%B9%80%E0%B8%81%E0%B8%95%E0%B8%9A%E0%B8%AD%E0%B8%A5